เส้นเลือดขอดในอุ้งเชิงกราน
Pelvic Venous Disorders
อาการปวดท้องน้อยเรื้อรังที่มากกว่า 6 เดือน ไม่สัมพันธ์กับท่าทาง ไม่สัมพันธ์กับรอบประจำเดือน และสัมพันธ์กับการเดิน หรือยืนเป็นเวลานาน หรืออาการ ปวดท้องน้อยหลังมีเพศสัมพันธ์ทุกครั้ง ปวดทุกวัน และหาสาเหตุอย่างอื่นไม่เจอ ควรมาพบแพทย์ เพื่อหาสาเหตุว่าเป็นโรคเส้นเลือดขอดในอุ้งเชิงกรานนี้หรือไม่
โรคเส้นเลือดขอดในอุ้งเชิงกราน คืออะไร
การไหลย้อนกลับของเลือดทำให้เกิดเลือดคั่งในอวัยวะในอุ้งเชิงกราน เช่น ท่อนำไข่ รังไข่ มดลูก รวมถึงลำไส้ใหญ่ และกล้ามเนื้อหูรูด ก็ทำให้มีปัญหาได้ครับ อาการของเส้นเลือดขอดในอุ้งเชิงกราน อาการที่พบได้บ่อย ต้องนึกถึงเรื่องเส้นเลือดขอดในอุ้งเชิงกราน เช่น
- อาการปวดเอว
- ปวดท้องน้อยเรื้อรัง โดยที่ไม่สามารถบอกลักษณะของอาการ ปวดท้องน้อยได้ชัดเจน อาจจะปวดช่วงบ่ายๆ เย็นๆ ของวันที่นั่งนานๆ หรือเดินนานๆ
- ปวดหลังมีเพศสัมพันธ์ อันนี้ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่พบได้บ่อย
- อาจมีกล้ามเนื้อหูรูดที่ผิดปกติไป เช่น ปัสสาวะเล็ด ไม่สามารถกั้นอุจจาระได้
วิธีตรวจโรคเส้นเลือดขอดในอุ้งเชิงกราน
- การตรวจด้วยเครื่อง Ultrasound สามารถวินิจฉัยได้เบื้องต้น แต่ก็ยังมีข้อจำกัดหลายประการ
- การตรวจด้วยเครื่อง CT SCAN ก็ยังช่วยได้บ้างแต่ ยังไม่สามารถหาสาเหตุของโรคได้อย่างชัดเจน
- การฉีดสีเข้าหลอดเลือดดำ เพื่อเข้าไปดูการไหลเวียนของเลือด และการคั่งของเลือด ให้เราสามารถหาสาเหตุได้ชัดเจน
การรักษาโรคเส้นเลือดขอดในอุ้งเชิงกราน
การรักษาของโรคนี้เริ่มจาก การใช้ยานะครับ และสมัยก่อนเราก็ใช้วิธีผ่าตัดเปิดหน้าท้องเข้าไปผูกหลอดเลือด แต่ในปัจจุบัน เรามีการรักษาแบบใหม่ที่ใช้วัสดุอุดหลอดเลือด โดยที่แผลขนาด 2 มิลลิเมตร เข้าทางเล็ก ๆ บริเวณขาหนีบหรือลำคอนะครับ การรักษาที่ใช้วัสดุอุดหลอดเลือดหรือใช้สารระคายเคือง ทำให้เกิดเส้นเลือดที่ผิดปกติแล้วปิดไป การรักษาแบบนี้ ได้ผลค่อนข้างดีครับ มากกว่า 3 ใน 4 ของผู้ป่วย อาการปวดท้องน้อยลดลงอย่างเห็นได้ชัดครับ
สนับสนุนข้อมูลโดย: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ เทิดภูมิ เบญญากร
ศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านศัลยศาสตร์หลอดเลือด ศูนย์ศัลยกรรม (General Surgery Center)