การฟื้นฟูสมรรถภาพทางปอด
การติดเชื้อ COVID – 19 เริ่มจากการที่ได้รับเชื้อผ่านระบบทางเดินหายใจ หลังจากที่เชื้อได้ลงไปสู่ทางเดินหายใจส่วนล่าง ไวรัสที่เข้าสู่ร่างกายจะกระตุ้นให้เกิดการหลั่งของสารการอักเสบ และเพิ่มจำนวนของไวรัส อวัยวะที่ถูกยุ่งเกี่ยว มีหลายอวัยวะ เช่น ทางเดินอาหาร ไต แต่อวัยวะสำคัญคือ ปอด โดยจะทำให้เกิดการทำลายของปอดโดยตรง
อาการแสดงของผู้ติดเชื้อ COVID – 19 มีความหลากหลาย โดยแบ่งเป็น
1. ผู้ติดเชื้อไม่แสดงอาการ
2. ผู้ป่วยที่มีอาการที่ไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ
3. ผู้ป่วยที่มีปอดอักเสบเล็กน้อย
4. ผู้ป่วยปอดอักเสบ ที่มีอาการรุนแรง
จากข้อมูลการศึกษา พบว่า ความรุนแรงของโรค และ อัตราการเสียชีวิต ขึ้นกับปัจจัยบางอย่างเช่น ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมองเดิม โรคปอด โรคหัวใจ หรือไตเรื้อรัง โรคอ้วน โรคตับ โรคที่มีผลให้เกิดภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ เป็นต้น
ผู้ป่วย COVID – 19 ที่มีปอดอักเสบร่วม มักมีการดำเนินโรคแบ่งเป็น 4 ระยะ คือ
- ระยะเริ่มต้น 0–4 วัน
- ระยะลุกลาม 5–8 วัน
- ระยะดำเนินโรคสูงสุด 9–13 วัน
- ระยะฟื้นตัว ≥14 วัน
โดยผู้ป่วยที่มีลักษณะการอักเสบที่รุนแรงจากเอกซเรย์ หรือ CT ปอด (Extent of lung involvement) จะสัมพันธ์กับอาการที่รุนแรง และพบว่าผู้ป่วยมากกว่า 1 ใน 3 ปอดจะกลายเป็นพังผืด ทำให้เนื้อปอดขาดความยืดหยุ่น และแลกเปลี่ยนออกซิเจนได้ไม่ดี โดยอาการแสดงอาจมีความแตกต่างกัน ตั้งแต่ ไม่แสดงอาการ แต่เมื่อออกกำลังกายหรือทำอะไรกิจกรรมที่หนักๆ จะรู้สึกเหนื่อยง่ายกว่าปกติมาก หากตรวจวัดสมรรถภาพปอด จะพบว่าสมรรถภาพปอดต่ำกว่าปกติ จนกระทั่ง มีอาการเหนื่อยแม้ขณะพัก
โดยการฟื้นตัวของปอดหลังหายจากโรค COVID – 19 จะแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ
- ช่วงแรก เป็นช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังหายจากโรค จะยังพบฝ้าขาวที่ปอดในฟิล์มเอกซเรย์ได้
- ช่วงหลัง คือ ช่วงสัปดาห์ที่ 3-4 หลังจากที่หายจากโรค เมื่อติดตามผู้ป่วยปอดอักเสบ ที่มีอาการรุนแรง หลัง 6 เดือนจากการติดเชื้อ โดยการทำ CT ปอด พบว่า ผู้ป่วยมากกว่า 1 ใน 3 ยังพบพังผืดในปอด
ความสำคัญของการฟื้นฟูสมรรถภาพปอด ควรเริ่มทำเมื่อไหร่ และทำได้อย่างไร
ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยโรค COVID – 19 ทั้งที่มีอาการปอดอักเสบร่วมด้วยและไม่มีปอดอักเสบร่วมทุกคน ควรได้รับการฝึกฟื้นฟูสมรรถภาพปอดตั้งแต่แรก โดยการฟื้นฟูสมรรถภาพปอดเน้นการฝึกการเคลื่อนไหวหรือขยับช่วงปอด เพื่อให้เนื้อปอดและถุงลม ไม่แฟบ และเพิ่มความยืดหยุ่น กระตุ้นให้ปอดส่วนที่มีรอยโรค ค่อยๆ ฟื้นฟูตัวเองกลับมา ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น รวมถึงการออกกำลังกายเบาๆ เพื่อที่จะสามารถทำกิจกรรม ได้ตามปกติ
การฟื้นฟูสมรรถภาพทางปอด สามารถทำได้หลายวิธี เช่น
1. การฝึกหายใจเข้าลึก ๆ ช้า ๆ (Deep slow breathing) ทำโดยหายใจเข้าทางจมูก พร้อมยกแขน 2 ข้าง ขึ้นด้านหน้าหรือด้านข้าง หายใจออกเป่าปากยาว ๆ พร้อมผ่อนแขนลง
2. การฝึกหายใจอย่างมีประสิทธิภาพ (Active cycle of breathing technique)
- ขั้นที่ 1 โดยการควบคุมการหายใจ วางมือข้างหนึ่งที่หน้าอก อีกข้างใต้ลิ้นปี่ หายใจเข้าทางจมูก ท้องป่องดันมือด้านล่างขึ้น หายใจออกเป่าปาก ท้องยุบ ทำซ้ำ 5-10 รอบ ระหว่างรอบอาจจะมีการพักประมาณ 30 วินาที
- ขั้นที่ 2 หายใจให้ทรวงอกขยาย โดยวางมือสองข้างที่ชายโครง หายใจเข้าให้ซี่โครงบานออก หายใจออกให้ซี่โครงยุบลง ทำซ้ำ 3 - 4 รอบ ทำซ้ำทั้ง 2 ขั้นตอน 5-10 รอบ
- หลังจากนั้นให้หายใจออกอย่างแรง นั่งโน้มตัวไปด้านหน้า หายใจเข้าค้างไว้ 1-3 วินาที หายใจออกอย่างแรงทางปาก 1-3 ครั้งติดกันโดยไม่หายใจเข้า ทำซ้ำ 1 - 2 รอบ (แนะนำทำการฝึกหายใจดังกล่าวทุก 1-2 ชั่วโมง)
กรณีมีอาการเหนื่อย หายใจเร็ว แน่นหน้าอก ปวดหัวเวียนหัว ใจสั่น ตามัว เหงื่อออกมาก หรือมีอาการซีดเขียว ควรหยุดออกกำลังกายทันที ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัวดังที่กล่าวมาข้างต้นควรปรึกษาแพทย์ก่อนออกกำลังกาย
การฟื้นฟูสมรรถภาพปอดอย่างมีประสิทธิภาพ ความสำคัญคือ วิธีการทำที่ถูกต้อง และความสม่ำเสมอในการทำกายภาพ เพื่อให้ปอดมีการฟื้นตัวที่ดี ควรหลีกเลี่ยงการทำลายปอดเพิ่มเติม เช่น การสูบบุหรี่ และหมั่นดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ฉีดวัคซีนป้องกันอย่างเหมาะสม เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี
สนับสนุนข้อมูลโดย: พญ.พวงรัตน์ ตั้งธิติกุล
แพทย์เฉพาะทางด้านอายุรศาสตร์โรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤตโรคระบบการหายใจ ศูนย์อายุรกรรม
คลิก > โปรแกรมเอกซเรย์ปอดและตรวจสมรรถภาพปอด