ริดสีดวงทวาร (Hemorrhoids)
คือภาวะหลอดเลือดดำบริเวณทวารหนัก มีการโป่งพองมากขึ้นจนทำให้เกิดการบวม และยื่นออกมา โดยทั่วไปจะพบได้บ่อย 3 ตำแหน่ง คือ ตำแหน่ง 3, 7 และ 11 นาฬิกา
อาการ
- ถ่ายอุจจาระมีเลือดสดปน
- สังเกตว่ามีเลือดติดกระดาษชำระหลังถ่ายอุจจาระเสร็จ
- มีเลือดหยดตามอุจจาระออกมา
- เลือดพุ่งขณะถ่ายอุจจาระ
โดยสิ่งที่สำคัญคือจะเป็นเลือดแดงสด และไม่มีมูกปน
- ก้อนเนื้อยื่นออกมานอกทวารหนัก
- อาจมีอาการปวดหรือคันรอบทวารหนักได้เวลาที่ถ่ายอุจจาระ
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดริดสีดวงทวาร
- ท้องผูก ถ่ายเป็นก้อนแข็ง
- ท้องเสีย
- นั่งถ่ายอุจจาระเป็นเวลานาน
- เบ่งอุจจาระมาก
- ใช้ยาสวนอุจจาระ หรือยาระบาย
- ตั้งครรภ์
- ไอเรื้อรัง
- ยกของหนัก
- ภาวะตับแข็ง
ประเภทของริดสีดวงทวาร
1. ริดสีดวงทวารหนักภายใน (Internal Hemorrhoid) ตำแหน่งของริดสีดวงจะอยู่เหนือทวารหนักขึ้นไป ทำให้ไม่ได้เห็นติ่งเนื้อโผล่ออกมาให้เห็นชัดเจนนักและมักจะไม่สามารถคลำได้ แต่จะสามารถคลำได้เมื่อมีขนาดใหญ่ขึ้นนั่นเอง โดยสามารถแบ่งได้เป็น 4 ระยะ ดังนี้
- ระยะที่ 1 มีหัวริดสีดวง แต่ยังไม่ยื่นออกมานอกทวารหนัก มักมาพบแพทย์ด้วยอาการถ่ายอุจจาระมีเลือดสด ๆ ปน
- ระยะที่ 2 หัวริดสีดวงยื่นออกมาขณะเบ่งถ่าย และสามารถกลับเข้าไปในทวารหนัก ได้เองหลังถ่ายอุจจาระ
- ระยะที่ 3 หัวริดสีดวงยื่นออกมาขณะเบ่งถ่าย และต้องใช้มือดันกลับเข้าไปในทวารหนัก
- ระยะที่ 4 หัวริดสีดวงยื่นออกมานอกทวารหนักตลอด โดยไม่สามารถดันกลับเข้าไปได้
2. ริดสีดวงทวารหนักภายนอก (External Hemorrhoid) (รูป 4)
ริดสีดวงทีเกิดขึ้นบริเวณปากทวารหนัก มักจะมองเห็นและคลำได้ เวลามีการอักเสบ หรือลิ่มเลือดอุดตัน (thrombosed external hemorrhoid) จะมีอาการเจ็บอย่างมาก
การป้องกัน พยายามลดปัจจัยเสี่ยงที่กล่าวมาข้างต้น และพยายามปรับพฤติกรรมการขับถ่ายให้เป็นปกติดังนี้
- ขับถ่ายเป็นเวลา
- ไม่นั่งถ่ายอุจจาระเป็นเวลานาน อาจแก้ด้วยการรอให้ปวดถ่ายจริงๆค่อยไปห้องน้ำ
- พยายามทำให้อุจจาระนิ่ม และขับถ่ายได้ง่าย
- กินผักผลไม้ให้มากขึ้น หรือกินอาหารที่มีกากใย
- ดื่มน้ำให้มากขึ้น
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อช่วยให้การทำงานของลำไส้ดีขึ้น
วิธีการรักษา
- การรักษาโดยไม่ต้องผ่าตัดเหมาะสำหรับริดสีดวงทวารภายใน ระยะที่ 1 หรือ 2
- การปรับพฤติกรรมการขับถ่าย ร่วมกับการกินยา
- การฉีดยา(sclerotherapy) โดยฉีดเข้าไปที่ ใต้ชั้นผิวหนัง บริเวณขั้วริดสีดวงเพื่อให้หัวริดสีดวงยุบลง
- การใช้ยางรัด (Rubber band ligation) โดยจะรัดตำแหน่งหัวริดสีดวง เพื่อให้หัวริดสีดวงฝ่อและหลุดออก
- การรักษาโดยการผ่าตัด เหมาะสำหรับริดสีดวงทวารภายในที่มีขนาดใหญ่และริดสีดวงภายนอก
การผ่าตัดแบบมาตรฐาน เป็นการผ่าตัดเอาเนื้อเยื่อริดสีดวงที่โตและก่อปัญหาออก โดยวิธีนี้เป็นวิธีมาตรฐานสากล ซึ่งมีผลการรักษาที่ดีเนื่องจากมีโอกาสเป็นซ้ำใหม่น้อยที่สุด เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีริดสีดวงภายนอกขนาดใหญ่หรือริดสีดวงภายนอกที่มีการอักเสบ
การผ่าตัดริดสีดวงด้วยเลเซอร์ (Laser Hemorrhoidoplasty) เป็นการใช้แสงเลเซอร์เข้าไปทำลายเส้นเลือดบริเวณหัวริดสีดวงและทำให้ฝ่อลง เหมาะสำหรับริดสีดวงที่ขนาดไม่ใหญ่มาก (ระยะที่ 2-3) จากหลายงานวิจัยพบว่า วิธีนี้เป็นวิธีที่เจ็บน้อยกว่าวิธีผ่าตัดแบบมาตรฐานอย่างชัดเจน และ ใช้เวลาในการผ่าตัดที่น้อยกว่า แต่ในระยะยาวมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้
การผ่าตัดริดสีดวงโดยใช้เครื่องมือตัดเย็บอัตโนมัติ (Stapled hemorrhoidopexy or PPH stapler) เป็นการตัดหัวริดสีดวงรอบรูทวารโดยใช้เครื่องมือตับเย็บอัตโนมัติ ซึ่งใช้สำหรับริดสีดวงทวารหนักภายในเท่านั้น การผ่าตัดด้วยวิธีดังกล่าวจะได้ประโยชน์ เมื่อผู้ป่วยมีริดสีดวงภายในหลายๆหัว นอกจากนี้ยังเป็นวิธีการผ่าตัดที่เจ็บน้อยกว่าวิธีการผ่าตัดแบบมาตรฐาน
ถึงแม้ว่าอาการของริดสีดวงทวารมักมาด้วยอาการถ่ายเป็นเลือด แต่ผู้ป่วยควรมาพบแพทย์ เพื่อทำการตรวจยืนยัน ตรวจเพิ่มเติมเช่นการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (colonoscopy) ในบางกรณีและให้การรักษาที่ถูกต้อง ไม่ควรซื้อยามากินเองเนื่องจากอาการถ่ายเป็นเลือด สามารถเป็นโรคอื่นๆได้ เช่น แผลที่ทวารหนัก ลำไส้อักเสบ หรือแม้แต่มะเร็งลำไส้ใหญ่ นั่นเอง
สนับสนุนข้อมูลโดย: นพ.ปุณวัฒน์ จันทรจำนง
ศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านศัลยศาสตร์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ศูนย์ศัลยกรรม (General Surgery Center)