โรคกระเพาะอาหารอักเสบ ( Gastritis )
โรคกระเพาะอักเสบหรือที่เราเรียกติดปากกันว่าโรคกระเพาะมันคืออะไรกันแน่
หลายคนสงสัยแล้วก็อยากรู้จักโรคนี้
เมื่อมีอาการปวดท้องเรามักจะบอกกับตัวเองว่าเป็นโรคกระเพาะแล้วไปหาซื้อยาแก้โรคกระเพาะตามร้านขายยามาทาน สิ่งเหล่านี้ถูกหรือไม่ วันนี้เราจะมาทำความรู้จักโรคกระเพาะอาหารอักเสบหรือโรคกระเพาะกัน คำว่าโรคกระเพาะที่คนส่วนใหญ่ใช้กัน เป็นคำกว้างๆที่เรามักใช้เมื่อมีอาการปวดท้องส่วนบน ซึ่งไม่ได้ถูกต้องเสมอไป อวัยวะในช่องท้องส่วนบนยังรวมไปถึงตับ ตับอ่อน ถุงน้ำดี เพราะฉนั้นอาการปวดท้องส่วนบนอาจรวมไปถึงตับอ่อนอักเสบนิ่วในถึงน้ำดี หรือแม้แต่กระทั่งอาจมีก้อนที่ตับ ดังนั้นอาการปวดท้องส่วนบน อาจไม่ใช่อาการของโรคกระเพาะเหมือนที่หลายคนเข้าใจ
คราวนี้เราจะมากล่าวถึงโรคกระเพาะอักเสบ (Gastritis ) กัน กระเพาะอาหารอักเสบ คือการอักเสบของกระเพาะอาหาร ซึ่งถ้าส่องกล้องจะพบลักษณะของกระเพาะอาหารมีอาการระคายเคืองคือมีลักษณะที่บวมแดงกว่าปกติ
สาเหตุของกระเพาะอาหารอักเสบมักเกิดจาก 2 ปัจจัยคือ
1. เกิดจากการที่มีการหลั่งกรดมากเกินไป ของเซลล์กระเพาะอาหารที่ทำหน้าที่หลั่งกรด
2. เกิดจากชั้นเคลือบปกป้องเยื้อบุกระเพาะอาหารบกพร่องหรือทำงานได้น้อยกว่าปกติจากสาเหตุใดๆ
สาเหตุที่ทำให้เกิด 2 ปัจจัยดังกล่าวได้แก่
- การติดเชื้อแบคทีเรีย เอช.ไพโลไร (H pylori) แบคทีเรียร้ายในกระเพาะอาหาร
- ยาแก้ปวด ยาต้านการอักเสบท(NSAIDs)
- การสูบบุหรี่หรือการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป
- การทานอาหารที่ระคายเคืองกระเพาะอาหารเช่นอาหารเผ็ด อาหารรสจัด
- การทานอาหารไม่เป็นเวลา เป็นต้น
การรักษาอาการกระเพาะอาหารอักเสบ
หากเรามีอาการของกระเพาะอาหารอักเสบ เช่น อาการปวดแสบท้อง ลมในท้องมาก อืดแน่นท้อง เมื่อไหร่ที่เราควรจะมาส่องกล้องกระเพาะอาหาร เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้องแม่นยำ ทางสมาคมหน่วยโรคทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย แนะนำให้ผู้ป่วยที่มีอาการปวดท้องส่วนบนร่วมกับข้อบ่งชี้ต่อไปนี้ส่องกล้องกระเพาะอาหาร คือ
1. ปวดแสบท้องครั้งแรกตอนอายุมากกว่า 50 ปี
2. มีสัญญาณของโรคมะเร็งกระเพาะอาหารเช่น อาการน้ำหนักลด มีถ่ายปนเลือดหรือถ่ายดำ
3. ปวดแสบท้องที่รักษาไม่ดีขึ้นด้วยการใช้ยา
4. ปวดแสบท้องและมีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร
หลังจากได้รับการวินิจฉัยกระเพาะอาหารอักเสบแล้ว จะมีการรักษาด้วยยา เช่น ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร ยาเคลือบกระเพาะอาหาร และการปรับประพฤติกรรมในการใช้ชีวิตของผู้ป่วย เช่น การหลีกเลี่ยงยาที่มีผลต่ออาการระคายเคืองกระเพาะอาหาร การทานอาหารให้ตรงเวลา และการหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ การดื่มน้ำอัดลม เป็นต้น
รายละเอียด โปรแกรมตรวจคัดกรองระบบทางเดินอาหารและตับ : คลิก
รายละเอียด โปรแกรมส่องกล้องเพื่อวินนิจฉัยโรคกระเพาะอาหารและสำไส้ใหญ่ : คลิก
สนับสนุนข้อมูลโดย :
นพ.ปารินทร์ ศิริวัฒน์ แพทย์เฉพาะทางด้านอายุรศาสตร์โรคระบบทางเดินอาหาร
ศูนย์ระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลนวเวช 02-483-9999