ไขมันพอกตับ …และการรับประทานยา (EP 3)
หลังจากที่เรามีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการคุมอาหาร การออกกำลังกายและประโยชน์ของ Fibrotouch ในการscan ตับ จาก EP 1 และ EP 2 แล้ว วันนี้เราจะมากล่าวถึงเรื่องยาที่มีใช้ในโรคไขมันพอกตับ
ที่ผ่านมามีการศึกษาวิจัยเพื่อหายาที่ใช้ในการรักษาภาวะไขมันพอกตับซึ่งส่วนใหญ่มักจะไม่ได้ผล ในปัจจุบันยาได้ที่รับการรองรับโดย Food and drug administration (FDA) และมีในประเทศไทยมีดังนี้
1.) ยาเบาหวาน กลุ่ม Thiazolidinediones เช่น pioglitazone – เป็นยาที่ทำหน้าที่ควบคุมการเมแทบอลิซึมของน้ำตาลและไขมัน รวมถึงความคุมการอักเสบ การศึกษาวิจัยพบว่ายากลุ่มนี้สามารถทำให้ผลทางพยาธิวิทยา(histopathology) ของภาวะไขมันพอกตับดีขึ้น 58% ไม่ว่าผู้ป่วยจะเป็นเบาหวานหรือไม่ก็ตาม1 สำหรับผลข้างเคียงของยากลุ่มนี้ได้แก่ น้ำหนักเพิ่มขึ้น และภาวะกระดูกบาง หากทานติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน2,3
2.) วิตามินอี (rrr α-tocopherol) – เป็นวิตามินที่มีหน้าที่ต้านสารอนุมูลอิสระ จากการศึกษาในคนไข้ไขมันพอกตับที่ไม่เป็นเบาหวาน พบว่ายากลุ่มนี้สามารถทำให้ค่าการอักเสบของตับ และผลทางพยาธิวิทยาของภาวะไขมันพอกตับดีขึ้น 42-58% 4สำหรับผลข้างเคียงมีการศึกษาในประชากร 246,371 คน เป็นระยะเวลา 10 ปี พบว่าวิตามินอี ไม่ได้มีผลต่อการเพิ่มอัตราตาย5
สำหรับยาอื่นที่อยู่ในระหว่างการศึกษาและยังไม่ได้รับการรองรับโดย FDA มีดังต่อไปนี้
1) ยาเบาหวาน กลุ่ม Glucagon-like peptide-1 analogues (GLP-1) เช่น liraglutide, semaglutide เป็นต้น – มีการศึกษาพบว่าการให้ยากลุ่มนี้สามารถทำให้ค่าการอักเสบของตับ และผลทางพยาธิวิทยาดีขึ้น6 โดยคาดว่าเป็นผลจากการทำให้น้ำหนักของผู้ป่วยลดลง แต่อย่างไรก็ตามยากลุ่มนี้ยังคงมีข้อมูลไม่เพียงพอในผู้ป่วยไขมันพอกตับ จึงต้องรอข้อมูลการศึกษาต่อไป
2) โปรไบโอติก – ภาวะจุลินทรีย์ในลำไส้ไม่สมดุล หรือ Dysbiosis มีสัมพันธ์กับการเกิดไขมันพอกตับ มีการศึกษาการใช้โปรไบโอติกในผู้ป่วยไขมันพอกตับ โดยใช้โปรไบโอติกชนิด VHL#3 (ซึ่งประกอบด้วยจุลินทรีย์หลายชนิดได้แก่ Lactobacillus, Bifidobacterium, Streptococcus, และ Thermophilus spp.) พบว่าการให้ VHL#3 ทำให้ค่าการอักเสบของตับ และผลทางพยาธิวิทยาดีขึ้น7-10 อย่างไรก็ตามเนื่องจากข้อมูลยังไม่เพียงพอ จึงต้องรอข้อมูลจากการศึกษาต่อไป
ถึงแม้ว่าจะมีการศึกษายาหลายชนิดในผู้ป่วยไขมันพอกตับ อย่างไรก็ตาม “การลดน้ำหนัก” ยังคงเป็นวิธีหลักในการรักษาภาวะไขมันพอกตับในปัจจุบัน
การลดน้ำหนักเป็นสิ่งที่ไม่ได้ยากจนเกินไป แต่ความต่อเนื่องและการเข้ามาพบผู้เชี่ยวชาญ และได้รับการรักษาที่ถูกต้อง จะทำให้การลดน้ำหนักมีประสิทธิภาพ และเป็นประโยชน์มากที่สุดซึ่งการลดน้ำหนักสามารถทำให้การอักเสบของตับดีขึ้น สามารถลดปริมาณผังผืดในตับ และลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนในระบบอวัยวะอื่น เช่นโรคหัวใจเป็นต้น
สนับสนุนข้อมูลโดย
นพ.ปารินทร์ ศิริวัฒน์
ศูนย์ระบบทางเดินอาหารโรงพยาบาลนวเวช
นพ. ณัฐภัทร รุจีรไพบูลย์
ศูนย์ระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลนวเวช