ฟันเทียม EP3 ฟันเทียมติดแน่น
ฟันเทียมชนิดติดแน่น คือ ฟันเทียมที่ติดแน่นในช่องปากโดยที่ผู้ป่วยไม่สามารถถอดเข้า-ออกด้วยตัวเองได้ แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
1. สะพานฟัน (Bridge)
เป็นการทำซี่ฟันเทียม(ฟันแขวน/pontic)ที่จะยึดติดแน่นกับฟันหลักยึด(abutment)ที่อยู่หน้าและหลังช่องว่างไร้ฟัน โดยฟันหลักยึดอาจจะเป็นฟันธรรมชาติหรือรากฟันเทียม(dental implant)ก็ได้
- สะพานฟันมีข้อเสีย คือ หากฟันหลักยึดเป็นฟันธรรมชาติ จะต้องกรอเนื้อฟันธรรมชาติออกเพื่อทำสะพานฟัน นอกจากนี้การทำความสะอาดบริเวณซอกฟันของสะพานฟันจะทำได้ยากกว่าปกติโดยจะต้องใช้เข็มร้อยไหมขัดฟัน(floss treader)หรือใช้superfloss เพราะจะไม่สามารถใช้ไหมขัดฟันผ่านทางซอกฟันได้ตามปกติ
- สะพานฟันมีข้อจำกัด คือ หากฟันหลักยึดมีสภาพไม่แข็งแรง เช่น ฟันโยก หรือมีช่องว่างไร้ฟันหลายซี่มากเกินไป ก็จะไม่เหมาะที่จะทำสะพานฟันได้ เพราะฟันหลักยึดจะไม่สามารถรับแรงบดเคี้ยวได้
2. รากฟันเทียม (Dental implant)
รากฟันเทียมเป็นการใส่ฟันเทียมที่ลอกเลียนแบบฟันธรรมชาติได้ดีที่สุดในปัจจุบัน รากฟันเทียมมีส่วนประกอบ 3 ส่วน ได้แก่
1. รากเทียม(fixure) เป็นโลหะไทเทเนียมที่มีความเข้ากันได้กับเนื้อเยื่อในร่างกายและสามารถยึดติดกับกระดูกขากรรไกรได้
2. หลักยึดรากเทียม(abutment) เชื่อมต่อกับรากเทียมเพื่อรองรับครอบฟัน/สะพานฟัน/ฟันเทียมถอดได้
3. ครอบฟัน/สะพานฟัน/ฟันเทียมถอดได้ สามารถใส่ฟันเทียมได้หลากหลายรูปแบบบนรากฟันเทียมขึ้นกับสภาพในช่องปากทั้งจำนวนซี่ฟันที่ถูกถอนออกไป ปริมาณกระดูกและเหงือก โดยทันตแพทย์เฉพาะทางจะเป็นผู้ประเมินสภาพช่องปากและวางแผนการใส่ฟันเทียมรูปแบบต่างๆและอธิบายให้ผู้ป่วยทราบข้อดี ข้อเสีย ระยะเวลาในการรักษาและค่าใช้จ่ายให้ผู้ป่วยทราบก่อนเริ่มการรักษา
สนับสนุนข้อมูลโดย
ทันตแพทย์หญิงณัฐธิดา สิริอมราพร
แพทย์เฉพาะทางด้านทันตกรรมทั่วไป