ฟันปลอม/ฟันเทียม EP2 ฟันเทียมแบบถอดได้
ฟันเทียมแบบถอดได้ แบ่งตามชนิดของวัสดุที่ใช้ทำฐานฟันเทียมได้เป็น 2 ชนิด
1. ฟันเทียมถอดได้ฐานพลาสติก
- มีโอกาสแตกหักง่ายเพราะเป็นพลาสติก แต่เมื่อแตกหักก็อาจซ่อมได้
- หนามากกว่าฐานโลหะ
- ราคาถูกกว่า
- จริงๆแล้วมักใช้ฟันเทียมฐานพลาสติกสำหรับใส่ชั่วคราวเท่านั้น เช่น ใช้ใส่ทันทีหลังถอนฟันหน้าเพื่อให้มีความสวยงาม จากนั้นเมื่อแผลถอนฟันหายดีจึงค่อยทำฟันเทียมฐานโลหะ แต่ในไทยนิยมใส่ฐานพลาสติกค่อนข้างถาวร
- เนื่องจากผิวพลาสติกมีรูพรุน เมื่อใช้ไปนานๆจะทำให้พลาสติกเปลี่ยนสี คือมีสีคล้ำลงเนื่องจากสีจากอาหารซึมเข้าไปติดในเนื้อพลาสติก หรืออาจมีหินปูนเกาะได้ ถ้าติดสีไม่มากอาจลองใช้เม็ดฟู่สำหรับทำความสะอาดฟันเทียมได้
ในปัจจุบันยังแบ่งฟันเทียมถอดได้ฐานพลาสติกได้เป็น 2 ชนิด
คือ ฐานแข็งและฐานนิ่ม/ฐานยืดหยุ่น(valplast) โดยฐานแข็งเป็นแบบที่ใช้โดยทั่วไป ทำจากวัสดุอะคริลิก(acrylic) เป็นที่ยอมรับ และใช้มานาน ในขณะที่ฐานนิ่ม ทำจากวัสดุไนลอน(nylon) มีความยืดหยุ่นสูง มีข้อดีคือ สามารถใช้วัสดุไนลอนที่ใช้เป็นฐานฟันเทียมมาใช้เป็นตะขอเกี่ยวกับฟันธรรมชาติได้ด้วย จึงมีความสวยงามมากกว่าเพราะไม่มีสีโลหะของตะขอที่ใช้ในฟันเทียมแบบปกติ แต่มีข้อเสียคือฐานนิ่มจะมีราคาสูงกว่า การจะกระจายแรงได้ไม่ดีเท่าแบบฐานแข็ง อาจส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บต่อฟัน/เนื้อเยื่อที่รับแรงมากเกินไป และฐานนิ่มจะติดสีจากอาหารได้เร็วและมากกว่าฐานแข็ง
2. ฟันเทียมถอดได้ฐานโลหะ
- มีความแข็งแรงมากกว่า โอกาสแตกหักน้อย แต่ถ้าโลหะบิดเบี้ยวจะซ่อมไม่ได้
- สามารถทำได้บางกว่า ทำให้รู้สึกว่าใส่สบายกว่า
- ราคาสูงกว่า
- มีความแนบสนิทกับเนื้อเยื่อและฟันที่ดีกว่าจึงใช้เป็นฟันเทียมที่ใส่ถาวรในระยะยาว
- ไม่เกิดการติดสีในส่วนที่เป็นโลหะ แต่ก็สามารถติดสีได้ในส่วนที่เป็นพลาสติก
นอกจากนี้ยังอาจแบ่งฟันเทียมถอดได้เป็น 3 ชนิด คือ
1. ฟันเทียมถอดได้ทั้งปาก
- ใส่เมื่อผู้ป่วยสูยเสียฟันธรรมชาติทั้งปาก
- การยึดอยู่ในปากโดยอาศัยจากน้ำลายและการประคองของกล้ามเนื้อต่างๆ ดังนั้นจึงต้องใช้เวลาสักพักสำหรับการปรับตัวของกล้ามเนื้อและน้ำลายเพื่อให้ใส่ฟันเทียมได้ดี
- ผู้ป่วยมักรู้สึกว่าฟันเทียมทั้งปากจะไม่ค่อยแน่นในปาก /ใส่แล้วหลวม/หลุดง่าย โดยเฉพาะฟันเทียมทั้งปากชิ้นล่าง ผู้ป่วยจะรู้สึกว่าหลวมและปรับตัวให้เข้ากับฟันเทียมได้ยากกว่า เนื่องจากชิ้นล่างมักจะได้รับผลจากการขยับของลิ้นที่ขยับไปมาตลอด จึงมักจะหลุดง่ายกว่าชิ้นบน
2. ฟันเทียมบางส่วนถอดได้
- ใส่ในผู้ป่วยที่สูญเสียฟันธรรมชาติไป แต่ยังเหลือฟันธรรมชาติที่ดีอยู่ จึงสามารถใช้ตะขอเกี่ยวยึดฟันเทียมให้ติดกับฟันธรรมชาติที่ยังมีสภาพดีได้ ดังนั้นฟันเทียมจึงยึดอยู่ในปากได้ดีกว่าฟันเทียมทั้งปาก
- ข้อเสีย คือ ไม่ค่อยสวยงาม เห็นสีตะขอ(อาจเป็นสีโลหะ สีเหมือนฟัน หรือสีชมพู ขึ้นกับชนิดของฟันเทียมและความเหมาะสมในการใส่ตะขอ)
3. ฟันเทียมคร่อมราก / ฟันเทียมตร่อมรากเทียม
- ใส่เมื่อมีการสูญเสียฟันธรรมชาติไปมากๆจนแทบจะเป็นการใส่ฟันเทียมทั้งปาก แต่เพราะการใส่ฟันเทียมทั้งปากมักจะหลวมหลุดง่าย จึงทำฟันเทียมแบบถอดได้คร่อมรากฟันธรรมชาติที่เหลืออยู่ หรือปักรากฟันเทียมแล้วทำฟันเทียมคร่อมรากฟันเทียมเพื่อให้ฟันเทียมถอดได้ยึดอยู่ในปากได้แน่นขึ้น
- ข้อดี การยึดอยู่ในปากดีกว่าฟันเทียมถอดได้ทั้งปาก ไม่หลวมหลุดง่าย ทำให้ใส่ได้อย่างมั่นใจมากขึ้น
- ข้อเสีย มีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการใส่ฟันเทียมถอดได้ธรรมดา แต่ก็ยังมีราคาถูกกว่าการใส่รากฟันเทียมทดแทนทั้งปากมาก
ใน EP3 จะพูดถึงฟันเทียมแบบติดแน่นกันบ้างนะคะ
สนับสนุนข้อมูลโดย
ทันตแพทย์หญิงณัฐธิดา สิริอมราพร
แพทย์เฉพาะทางด้านทันตกรรมทั่วไป