ควรพบทันตแพทย์เมื่อไหร่ พบแล้วตรวจอะไรบ้าง
โดยทั่วไปแนะนำให้พบทันตแพทย์ทุก 6 – 12 เดือน เพื่อตรวจสุขภาพฟันและขูดหินปูน โดยการพบทันตแพทย์เป็นประจำ จะช่วยให้สามารถตรวจพบความผิดปกติหรือโรคในช่องปากรวมถึงรอยโรคก่อนเป็นมะเร็ง(precancerous lesion)ได้ตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น และได้รับคำแนะนำในการป้องกันโรคหรือได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว
ยกตัวอย่างเช่นในกรณีโรคฟันผุ หากตรวจพบเร็วก็สามารถรักษาด้วยการอุดฟันได้ แต่หากฟันผุลุกลามมากจนมีการติดเชื้อเข้าไปถึงโพรงประสาทฟันและกระดูกรอบรากฟันก็จะต้องรักษาโดยการรักษารากฟันหรือถอนฟันซึ่งก็จะมีค่าใช้จ่ายสูงและใช้เวลาในการรักษามากกว่าการอุดฟันธรรมดา (การถอนฟันอาจดูเหมือนมีค่าใช้จ่ายในการรักษาที่ไม่แพง แต่หากถอนฟันจะทำให้ฟันข้างเคียงหรือฟันคู่สบล้มเอียงได้ จึงแนะนำให้ใส่ฟันเทียมทดแทนเสมอเมื่อมีช่องว่างไร้ฟันเพื่อป้องกันฟันล้มเอียงซึ่งจะส่งผลต่อการบดเคี้ยว ดังนั้นทางเลือกถอนฟันเองก็จะมีค่าใช้จ่ายสูงและใช้เวลาในการรักษามากเนื่องจากการทำฟันเทียมแบบติดแน่นหรือแบบถอดได้เช่นกัน)
แต่ในบางกรณีทันตแพทย์อาจแนะนำให้มารับการตรวจช่องปากถี่ขึ้นกว่าปกติได้ เช่น คนที่มีความเสี่ยงในการเกิดฟันผุสูง คนที่มีอาการปากแห้งหรือน้ำลายน้อย(xerostomia) คนที่ได้รับการฉายรังสีบริเวณใบหน้าและลำคอ คนที่เป็นโรคเบาหวาน คนที่เป็นโรคปริทันต์อักเสบ เป็นต้น
Q : ตอนนี้ไม่มีอาการอะไร ถ้ามีอาการแล้วค่อยไปพบได้ไหม
A : ในบางครั้งการมาพบทันตแพทย์เมื่อมีอาการ อาจจะทำให้เจอรอยโรคช้าเกินไป เนื่องจากรอยโรคฟันผุระยะเริ่มต้น โรคเหงือก หรือรอยโรคก่อนเป็นมะเร็ง มักจะไม่แสดงอาการใดๆ ดังนั้นการมาพบเมื่อมีอาการ มักจะทำให้พบรอยโรคในระยะที่มีการลุกลามมากแล้ว การรักษาที่ทำได้จึงมีความยุ่งยากซับซ้อนมากกว่า ซึ่งก็จะทำให้เสียค่ารักษาและเสียเวลามากกว่าการมาพบทันตแพทย์เป็นประจำ รวมถึงทำให้การใช้งานบดเคี้ยวอาหารได้แย่ลงและไม่สวยงามได้หากมีการถอนฟันหรือการผ่าตัดรอยโรคมะเร็งขนาดใหญ่
Q : ตรวจสุขภาพฟัน ตรวจอะไรบ้าง
A: ทันตแพทย์จะตรวจดูสภาพฟัน เหงือกและเนื้อเยื่อในช่องปาก และอาจมีการตรวจเพิ่มเติมตามอาการหรือสภาพช่องปากของแต่ละคน เช่น การเขี่ย(exploration) การเคาะ(percussion) การคลำ(palpation) การตรวจความมีชีวิตของฟัน(vitality test) และการถ่ายภาพรังสี(x-ray)
Q : ถ่ายภาพรังสีเพื่อตรวจเพิ่มเติมมีภาพอะไรบ้าง
A : ภาพรังสีที่ใช้บ่อยในการตรวจเพิ่มเติมทางทันตกรรม ได้แก่
1. ภาพรังสีกัดปีก (bite wing) เป็นการถ่ายภาพรังสีเพื่อตรวจหาฟันผุซอกฟัน เนื่องจากบริเวณซอกฟันเป็นจุดที่ฟันชิดสนิทกัน ทันตแพทย์ไม่สามารถมองหรือเข้าไปตรวจได้ดีเหมือนด้านอื่นๆ จึงจำเป็นต้องถ่ายภาพรังสีกัดปีกเมื่อต้องการตรวจหาฟันผุบริเวณซอกฟัน ซึ่งแนะนำให้ถ่ายเป็นประจำทุก 6-24 เดือน ขึ้นกับความเสี่ยงต่อการเกิดโรคฟันผุในผู้ป่วยแต่ละราย
2. ภาพรังสีรอบปลายรากฟัน (periapical) เป็นการถ่ายภาพรังสีให้เห็นถึงปลายรากฟัน เพื่อตรวจดูว่ามีการอักเสบหรือติดเชื้อไปถึงบริเวณรอบรากฟันหรือไม่
3. ภาพรังสีปริทัศน์ (panoramic) เป็นการถ่ายภาพรังสีนอกช่องปาก ซึ่งจะทำให้ถ่ายได้ทั้งฟันบน-ฟันล่าง และกระดูกขากรรไกรในภาพเดียว ทำให้เห็นภาพรวมของช่องปากและรอยโรคในกระดูกขากรรไกรได้ดี รวมถึงสามารถเห็นการวางตัวของฟันคุด ฟันฝัง นอกจากนี้ยังนิยมถ่ายภาพรังสีปริทัศน์เพื่อใช้วิเคราะห์สภาพช่องปากในการจัดฟันร่วมกับการถ่ายภาพรังสีกะโหลกศีรษะและใบหน้าด้านข้าง(lateral cephalometric)
สรุป
1. โดยปกติควรพบทันตแพทย์ทุก 6-12 เดือน เพื่อตรวจสภาพช่องปากและขูดหินปูน โดยการตรวจเป็นประจำจะทำให้สามารถพบโรคในช่องปากได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น และได้รับการรักษาเร็ว
2. ไม่ควรรอให้มีอาการก่อนจึงค่อยมาพบทันตแพทย์ เพราะอาการมักจะมีเมื่อรอยโรคลุกลามมากแล้ว แต่ ถ้าหากมีอาการผิดปกติก่อนถึงวันนัดก็สามารถไปพบทันตแพทย์ได้ทันที
3. ทันตแพทย์อาจแนะนำให้มารับการตรวจภาพช่องปากถี่ขึ้นกว่าปกติได้ในคนที่มีความเสี่ยงในการเกิดฟันผุสูง คนที่มีอาการปากแห้งหรือน้ำลายน้อย(xerostomia) คนที่ได้รับการฉายรังสีบริเวณใบหน้าและลำคอ คนที่เป็นโรคเบาหวาน คนที่เป็นโรคปริทันต์อักเสบ เป็นต้น
4. การตรวจในช่องปากจะใช้ทั้งการดูด้วยตา และอาจมีการตรวจเพิ่มเติม เช่น การเขี่ย การเคาะ การคลำ การตรวจความมีชีวิตของฟัน และการถ่ายภาพรังสี ซึ่งจะตรวจเพิ่มเติมตามอาการหรือสภาพช่องปากของแต่ละคน
สนับสนุนข้อมูลโดย
ทันตแพทย์หญิงณัฐธิดา สิริอมราพร
แพทย์เฉพาะทางด้านทันตกรรมทั่วไป