EST ตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยการออกกำลังกาย
การตรวจ EST(Exercise stress test) คือ วิธีการทดสอบสมรรถภาพของหัวใจ โดยให้ผู้รับการตรวจออกกำลังกาย เช่น โดยการเดินสายพาน หรือการปั่นจักรยาน วิธีดังกล่าวจะเป็นการสร้างแรงเค้นต่อกล้ามเนื้อหัวใจเพื่อตรวจสอบว่า ขณะที่ร่างกายกำลังออกกำลังอย่างหนักนั้นหัวใจมีภาวะขาดเลือดหรือไม่ เพราะขณะออกกำลังหัวใจจะต้องการเลือดและออกซิเจนมาหล่อเลี้ยง หากมีเลือดและออกซิเจนมาหล่อเลี้ยงไม่เพียงพอจะส่งผลให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจ เกิดอาการเจ็บแน่นหน้าอก อาจมีความดันเลือดลดลง หรือ หัวใจเต้นผิดปกติ และมีความผิดปรกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่บ่งชี้ถึงโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
ขั้นตอนการตรวจ EST
จะให้ผู้ป่วยวิ่งบนสายพานโดยติดเครื่องวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ จากนั้นจึงค่อย ๆ เพิ่มความเร็วและความชันของสายพานขึ้น ในระหว่างที่ให้ผู้ป่วยออกกำลังกายอยู่นั้นจะมีการวัดความดันเป็นระยะ ๆ หากผู้ป่วยมีภาวะหัวใจขาดเลือดจะมีผลทำให้คลื่นไฟฟ้าเปลี่ยนแปลงไปร่วมกับอาการผิดปรกติ
ประโยชน์ของการตรวจ EST
- เพื่อทดสอบในผู้ป่วยที่สงสัยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน
- ใช้สำหรับประเมินการรักษาผู้ป่วยที่ป่่วยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เพื่อประเมินสมรรถภาพทางร่างกายและประเมินค่าการตอบสนองของผู้ป่วยหลังการรักษา
- เพื่อหาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะที่มักจะแสดงออกมาขณะที่ผู้ป่วยกำลังออกกำลังกาย หรือประเมินและหาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะบางชนิด
- ประเมินความดันโลหิตสูง ที่อาจมีผลต่อการออกกำลังกาย
- ใช้ตรวจสมรรถภาพของร่างกาย เช่นก่อนทำการผ่าตัด
ข้อควรระวังในการตรวจ EST
- การตรวจ EST เป็นการให้ผู้ที่รับการตรวจออกกำลังกายเท่าที่ผู้นั้นสามารถทำได้ จึงมีอันตรายน้อย โดยเฉพาะการตรวจนั้นอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์โรคหัวใจ
- หากผู้เข้ารับการตรวจรู้สึกมีอาการเจ็บหน้าอก เหนื่อย หรือมีอาการผิดปรกติอื่นๆควรแจ้งแพทย์ในทันที
- ในระหว่างการตรวจ EST อาจเกิดอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะได้ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นชนิดที่ไม่รุนแรง และอาจเกิดความดันโลหิตต่ำหรือสูงไปได้ซึ่งแพทย์จะพิจารณาการรักษาหรือการหยุดตรวจ EST อีกที
สนับสนุนข้อมูลโดย
พญ.ณหทัย ฉัตรสิงห์
แพทย์เฉพาะทางอายุรศาสตร์โรคหัวใจ