การรักษามะเร็ง โดยการฉายแสง
การรักษามะเร็งในปัจจุบัน ใช้การผสมผสานกันหลายวิธี ทำให้การรักษา ด้วยการฉายแสงรังสีเข้ามามีบทบาทสำคัญ ในการรักษาโรคมะเร็งมากขึ้น โดยอาศัยหลักการที่ว่าการฉายรังสีไปยังเนื้อเยื่อของเนื้องอกหรืออวัยวะใดๆก็ตามซึ่งเป็น เนื้อเยื่อที่มีชีวิต รังสีจะทำให้เกิดการทำลายดีเอ็นเอ (DNA)ของเซลล์เนื้องอกโดยตรงทำให้เกิดการตายและการเปลี่ยนแปลงรูปร่างและสรีระวิทยาของเซลล์เนื้องอกนั้น
โดยรังสีรักษาจะมีอยู่ 2 รูปแบบ ได้แก่
1. การฉายรังสีระยะไกล (teletherapy หรือ External beam therapy) เป็นการรักษาด้วยรังสีที่ได้จากเครื่องกำเนิดรังสีที่อยู่ห่างจากตัวผู้ป่วย
2. การให้รังสีระยะใกล้ (Pleasiotherapy หรือBrachytherapy) วิธีการรักษาที่ต้นกำเนิดรังสีอยู่ใกล้กับบริเวณที่จะรักษา หรือที่เรียกกันว่าการฝังแร่หรือใส่แร่ เป็นการนำสารกัมมันตรังสีซึ่งห่อหุ้มมิดชิดใส่เข้าไปภายในตัวผู้ป่วยหรือวางชิดกับบริเวณที่ต้องการจะรักษา
3. การรักษาด้วยสารกัมมันตรังสีเปิด (Unsealed source therapy)
การใช้รังสีรักษามีจุดประสงค์เพื่อให้หายขาดจากโรค และหรือควบคุมอาการเฉพาะที่ โดยอาจใช้รังสีรักษาหลังผ่าตัด และหรือใช้ร่วมกับยาเคมีบำบัด ในกรณีเพื่อให้หายขาดจะต้องคำนวณปริมาณรังสีและตำแหน่งให้แม่นยำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้คนไข้ได้ประโยชน์สูงสุดและผลข้างเคียงน้อยที่สุด
การดูแลสุขภาพทั่วไปขณะได้รับการรักษาด้วยการฉายรังสี
1. ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบทั้ง 5 หมู่ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง
2. ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 2,000 – 3,000 cc น้ำช่วยให้ร่างกายชุ่มชื้นและระบายความร้อนออกจากร่างกาย
3. การขับถ่ายของเสียออกจากร่างกาย ถ้ามีอาการท้องผูกหรือท้องเดินให้แจ้งแพทย์ หรือพยาบาลทราบ
4. การนอนควรนอนอย่างน้อยวันละ 6-8 ชั่วโมง ถ้านอนไม่หลับให้แจ้งแพทย์หรือพยาบาลทราบ
5. การออกกำลังกายตามสภาพของร่างกายอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรง และการไหลเวียนโลหิตดีขึ้น
6. ผู้ป่วยต้องได้รับการตรวจทางห้องปฎิบัติการ ได้แก่ CBC สัปดาห์ละครั้งเพื่อประเมินภาวะสุขภาพขณะรับการฉายแสงรังสี
7. ผู้ป่วยที่มีอาการปวดตามร่างกาย หรือมีอาการผิดปกติต่างๆ เช่น อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร เจ็บปาก เจ็บคอ กลืนลำบาก ผิวหนังอักเสบ ให้แจ้งแพทย์หรือพยาบาลทราบเพื่อให้การดูแลอย่างเหมาะสม และติดตามอาการอย่างใกล้ชิด
ปัจจุบันเทคโนโลยีการฉายรังสีพัฒนาไปมาก และที่สำคัญคืออาการข้างเคียงลดลงกว่าแต่ก่อนมาก หรือแทบไม่มีเลยในบางเทคนิค อยากให้คนไข้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนพิจารณาเข้ารับการฉายรังสีเพื่อให้ได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง
สนับสนุนข้อมูลโดย
โดย นายแพทย์วิกรม เจนเนติสิน
แพทย์เฉพาะทางอายุรศาสตร์มะเร็งวิทยาและเคมีบำบัด