ภาวะอ้วน….กับโรคกรดไหลย้อน (EP.3)
โรคอ้วนนำมาซึ่งโรคต่างๆ มากมายดังที่เรารู้กันอยู่แล้ว แต่ว่ารู้ไหมครับว่า การมีโรคอ้วนหรือน้ำหนักเกินมาตรฐาน
ทำให้เรามีอาการของโรคกรดไหลย้อนมากกว่าคนน้ำหนักปกติ
เมื่อเรามีอาการเรอเปรี้ยว เรอบ่อย แสบคอหลังมื้ออาหาร หรือแม้กระทั่งมีอาการไอแห้งๆเรื้อรังเวลานอน ใช่แล้วครับเรามักจะนึกถึงโรคกรดไหลย้อน และมักจะหายาต่างๆมาทาน ไม่ว่าจะเป็นยาลดกรด ยาเคลือบกระเพาะ บางครั้งอาการเหล่านี้ก็ดีขึ้นแต่ไม่หายขาด หรือหายแล้วก็กลับมาเป็นใหม่ บางทีเราอาจจะมีบางอย่างที่ไม่ได้ทำหรือลืมไป นั่นก็คือ ถ้าเรามีน้ำหนักเกินหรือมีโรคอ้วน เราอาจคุมน้ำหนักหรือลดน้ำหนักเพื่อช่วยการรักษากรดไหลย้อนควบคู่กันไปด้วย
ทำไมคนที่มีโรคอ้วนหรือภาวะน้ำหนักเกินถึงมีอาการของโรคกรดไหลย้อนมากกว่าคนปกติ?
1. การมีภาวะไส้เลื่อนกระบังลม(Hiatal hernia) คนอ้วนมักมีภาวะนี้ซึ่งมีผลทำให้ การบีบรัดตัวของหูรูดหลอดอาหารส่วนล่างไม่ดี ทำให้กรดไหลย้อนจากกระเพาะอาหารสู่หลอดอาหารได้ง่าย
2. การที่คนที่มีโรคอ้วนมีเส้นรอบเอวและไขมันหน้าท้องที่หนาเป็นผลให้ความดันภายในช่องท้องสูงขึ้น ทำให้การเคลื่อนอาหารจากกระเพาะไปยังลำไส้เล็กยากขึ้นในทางกลับกันทำให้กรดในกระเพาะและอาหารเคลื่อนที่ย้อนกลับไปยังหลอดอาหารได้ง่ายขึ้น จึงมีอาการของกรดไหลย้อนมากขึ้นนั่นเอง
3. พฤติกรรมส่วนตัวของคนที่มีโรคอ้วน ก็มีผลให้เกิดกรดไหลย้อนที่มากกว่าคนทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการกินอาหารจำนวนมากเกินไปทำให้อาหารค้างที่กระเพาะจำนวนมากก่อนถูกลำเลียงสู่ลำไส้เล็ก หรือการเน้นชอบกินของมันซึ่งทำให้เกิดการหลั่งของฮอร์โมน secretin และ cholecystokinin ซึ่งทำให้หูรูดหลอดอาหารส่วนล่างทำงานได้ไม่ดีทำให้กรดไหลย้อนสู่หลอดอาหารได้ง่ายเป็นต้น
อาการของกรดไหลย้อนในคนที่มีโรคอ้วน
อาการของกรดไหลย้อนในคนที่มีโรคอ้วนนั้นไม่ต่างจากอาการในคนปกติ อาจแบ่งเป็น
1. อาการจากระบบทางเดินอาหาร เช่น อาการเรอเปรี้ยว ขมคอ รู้สึกเหมือนมีกรดขึ้นมาในลำคอ หรืออาการแสบคอเรื้อรัง
2. อาการนอกระบบทางเดินอาหาร เช่น อาการไอเรื้อรัง อาการเสียงแหบ ความรู้สึกมีอะไรติดที่หลอดอาหาร หรือแม้กระทั่งอาการฟันผุหรือปอดอักเสบในคนสูงอายุที่ขยับตัวน้อย
3. อาการเจ็บแน่นหน้าอก(Non cardiac chest pain) ซึ่งต้องแยกจากอาการแน่นจากโรคหัวใจ(Cardiac chest pain) อาการกลุ่มนี้ต้องเฝ้าระวังว่าผู้ป่วยไม่ได้แน่นหน้าอกจากโรคหัวใจขาดเลือด
การรักษาโรคกรดไหลย้อนในคนที่มีโรคอ้วน
นอกจากการใช้ยาลดกรด หรือยากลุ่มแอลจิเนตที่มีในท้องตลาดเช่น อัลไกคอน และ กาวิสคอนแล้ว การลดน้ำหนักเพียง 5-10% ก็ช่วยให้อาการกรดไหลย้อนดีขึ้นได้ด้วย
การลดน้ำหนักโดยการปรึกษาและพบแพทย์ผู้เชียวชาญจะทำให้การลดนำหนักมีประสิทธิภาพ และปลอดภัย
นพ.ปารินทร์ ศิริวัฒน์
ศูนย์ระบบทางเดินอาหาร
โรงพยาบาลนวเวช