โรคภูมิแพ้ในเด็ก (Pediatric Allergy)
โรคภูมิแพ้ในเด็ก (Pediatric Allergy)
สาเหตุสำคัญของการเกิดโรคภูมิแพ้ คือ พันธุกรรม และสิ่งแวดล้อม
พันธุกรรม เป็นปัจจัยหนึ่งที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคภูมิแพ้ทุกชนิด โดยถ้าพ่อหรือแม่เป็นโรคภูมิแพ้อยู่ก่อนแล้ว ลูกก็จะมีโอกาสเกิดโรคภูมิแพ้ได้มากขึ้น และ สิ่งแวดล้อม เริ่มตั้งแต่ตอนคุณแม่ตั้งครรภ์ ให้นมบุตร ไปจนถึงสภาพแวดล้อมที่เลี้ยงดูเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การอยู่ในสถานที่ที่มีสารก่อภูมิแพ้ เช่น ไรฝุ่น สัตว์เลี้ยง ละอองหญ้าเกสรดอกไม่ การใกล้ชิดคนสูบบุหรี่ ในพื้นที่ฝุ่น pm 2.5หนาแน่น จะเพิ่มความเสี่ยงและความรุนแรงของการเป็นโรคภูมิแพ้
การเกิดโรคภูมิแพ้ มักเป็นไปตามอายุ เช่น
- โรคภูมิแพ้อาหาร (Food Allergy) มักพบในช่วงขวบปีแรก โดยมีการแพ้อาหารของเด็ก ตามช่วงอายุดังนี้
- การแพ้โปรตีนนมวัว (cow’s milk protein allergy) มักพบในช่วงขวบปีแรก โดยพบว่าการที่แม่ดื่มนมวัวปริมาณมากกว่าปกติในช่วงตั้งครรภ์ ให้นมบุตร การมีพี่น้องมีอาการแพ้โปรตีนนมวัวอยู่แล้วจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น
- การแพ้ไข่ (Egg allergy), แพ้แป้งสาลี (Wheat allergy), แพ้ถั่ว (Peanut allergy) ในปัจจุบันพบว่า เกิดได้ทั้งจากที่ เด็กเริ่มกินเองเป็นครั้งแรก หรือ ที่ผ่านทางน้ำนมแม่ ก็มีอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนเช่นกัน
- โรคภูมิแพ้อากาศ (Allergic rhinitis) จะต่างจากการเป็นโรคภูมิแพ้อาหาร มักจะพบในช่วงเด็กอายุ 2-3 ขวบปี โดยพบว่าการเลี้ยงดูในสิ่งแวดล้อมที่มีสารก่อภูมิแพ้ เช่น ไรฝุ่น, แมลงสาป, เชื้อรา, หญ้า, วัชพืช และละอองเกสร รวมไปถึงการมีสัตว์เลี้ยงในบริเวณบ้าน ทั้งสุนัข และแมว จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคในอายุที่น้อยลง และกระตุ้นทำให้อาการของโรครุนแรงขึ้นได้
- การเกิดภาวะหลอดลมไวหลังการติดเชื้อไวรัส (Viral induced wheezing) และการเป็นโรคหอบหืด (Asthma) นั้น สามารถพบได้ในช่วงอายุที่หลากหลาย ซึ่งถ้ามีภาวะหลอดลมไวหลังการติดเชื้อไวรัส บ่อยครั้งก่อนอายุ 5 ปี จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหอบหืดได้มากกว่าปกติ ถึง 2-3 เท่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การติดเชื้อจากไวรัสทางเดินหายใจ RSV
อาการแสดงเบื้องต้นของการแพ้อาหาร.. มีได้หลายลักษณะ
อาการทางผิวหนัง เช่น
- ผื่นคัน ผื่นแดง ผื่นเม็ดทราย (Maculopapular rash) ซึ่งมักพบบริเวณลำตัวได้มากที่สุด
- ผื่นแพ้ผิวหนังบริเวณที่เฉพาะเจาะจง (Atopic dermatitis) มีลักษณะหยาบ หนา แห้ง คันเรื้อรัง เฉพาะบริกาณ เช่น แก้ม ข้อมือข้อเท้า ข้อพับแขนขา รวมไปถึงตามลำตัวและท้องได้ ซึ่งผื่นนี้ เด็กทารกมักมีอาการคันมาก การเกาทำให้เกิดการติดเชื้อบริเวณผิวหนังตามมาได้บ่อยๆ และทำให้รักษาหายขาดได้ยาก
- ผื่นลมพิษแบบเฉียบพลัน (Urticaria)
- อาการบวมของเยื่อบุบริเวณเปลือกตา ปาก หู ทั่วใบหน้า (Angioedema) ไปจนถึงแพ้แบบรุนแรง Anaphylaxis ได้
อาการทางระบบทางเดินหายใจ เช่น
- การแน่นจมูก จาม มีน้ำมูกใสๆ ไหลเรื้อรัง หรือเป็นๆ หายๆ (Rhinorrhea/Rhinitis) ซึ่งอาการมีความคล้ายกับอาการของภูมิแพ้อากาศได้
- หายใจครืดคราด ติดขัด หายใจหอบเหนื่อย แน่นหน้าอก (Chest tightness)
- ไปจนถึงหายใจแบบมีเสียงวี๊ด (Wheezing) ซึ่งอาการมีความคล้ายกับอาการของโรคหอบหืดได้เช่นกัน
ทั้งนี้อาการทางระบบทางเดินหายใจอาจมีความรุนแรง ไปจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน
อาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่น
- การ คัน ระคายในคอในช่องปาก ปวดท้องแบบบีบเกร็งซึ่งทำให้ทารกร้องกวนบ่อยๆ นอนได้ไม่นาน ไม่สบายท้อง แน่นท้อง(Abdominal discomfort) ลักษณะเหมือนมีลมในท้องซึ่งอาจทำให้สะอึกหรือขย้อนนมตามหลังการกินนมได้
- ถ่ายบ่อย ถ่ายท้องเสีย (Enteritis) โดยเฉพาะถ่ายปนมูก ถ่ายปนมูกเลือด (Mucous bloody stool appearance) – กินนมยาก น้ำหนักไม่ขึ้น เลี้ยงไม่โต
- ร้องไห้โคลิค (Colic)
คำแนะนำสำหรับการเริ่มต้นอาหารมื้อแรกในเด็กกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการแพ้อาหาร เป็นดังนี้
- 1. ข้าว เป็นอาหารหลัก เริ่มที่มื้อแรก ควรเป็นข้าวขาวในทารกที่มีนมแม่ สามารถกินเป็นข้าวบดผสมนมแม่ได้
- 2. ผัก ผลไม้ เริ่มที่อายุ 4-6 เดือน เนื่องจากเป็นอาหารความเสี่ยงน้อยต่อการแพ้อาหาร สามารถกินซ้ำเพียง 2-3 วัน
ได้ตามลำดับ
- ผักสีขาว-เขียวอ่อน : ผักกาดขาว หัวหอม หัวไชเท้า ซูกินี่ กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก
- ผักสีเขียวเข้ม : ผักบุ้ง คะน้า กวางตุ้ง ตำลึง บลอคโคลี่ ผักโขม
- ผักสีเหลือง ส้ม แดง ม่วง : ข้าวโพด ฟักทอง แครอท มะเขือเทศ บีทรูท มะเขือม่วง
- 3. เนื้อสัตว์ เริ่มที่อายุ 6 เดือน : เนื้อไก่ เนื้อหมู ตับ และ ปลาน้ำจืด ตามลำดับ
- 4. อาหารกลุ่มความเสี่ยงสูง ควรเริ่มตามอายุ ดังนี้
- ไข่แดง : อายุ 6 เดือน
- ไข่ขาว : อายุ 7-9 เดือน
- แป้งสาลีและธัญพืช : 11-12 เดือน
- ถั่วเหลือง : อายุ 6-7 เดิือน
- ถั่วลิสง และถั่วเปลือกแข็ง : อายุ 3 ปีขึ้นไป
- อาหารทะเล เช่น ปลาทะเล กุ้ง ปู หอย : อายุ 2 ปีขึ้นไป / ปลาหมึก : อายุ 2-3 ปีขึ้นไป
สนับสนุนข้อมูลโดย :
พญ.สิริรักษ์ กาญจนธีระพงค์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันวิทยา
สอบถามรายละเอียดและขอรับคำปรึกษาได้ที่
ศูนย์สุขภาพเด็ก (Children’s Health Center) โรงพยาบาลนวเวช
โทร. 0 2483 9999 | www.navavej.com