การผ่าตัดรักษาโรคเหงื่อออกมือมากผิดปกติ
โรคหรือภาวะเหงื่อออกมือมากผิดปกติ (Hyperhidrosis) คือ อาการที่มีเหงื่อออกที่มือมากทั้งสองข้าง โดยไม่สัมพันธ์กับสภาพอากาศ หรือกิจกรรมที่ทำอยู่ เช่น เหงื่อออกที่มือมากขณะนั่งเฉยๆหรืออยู่ในห้องแอร์เย็นๆ โรคเหงื่อออกมือมากผิดปกติ พบได้ประมาณ 1-3% ของประชากรทั้งหมด ส่วนใหญ่มักเริ่มมีอาการตั้งแต่อายุน้อยหรือวัยรุ่น พบได้ทั้งเพศชายและหญิง
สาเหตุ สามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม
- เป็นผลสืบเนื่องจากโรคหรือภาวะอื่น (Secondary hyperhidrosis) เช่น ไทรอยด์เป็นพิษ, เบาหวาน, วัยทอง, ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เป็นต้น
- ไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน (Primary hyperhidrosis)
เมื่อไรที่ต้องทำการรักษา??
โรคนี้เป็นโรคที่ไม่มีอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต แต่ส่งผลถึงการใช้ชีวิตประจำวันและการทำงานได้โดยตรง เช่น เหงื่อที่มือทำให้กระดาษเปียกในคนที่ทำงานเกี่ยวกับเอกสาร, สูญเสียความมั่นใจในการเข้าสังคม ไม่กล้าจับมือทักทายกับผู้อื่น, มีปัญหาในการเล่นดนตรี/เล่นกีฬาที่ต้องใช้มือเป็นหลัก เป็นต้น
ดังนั้นผู้ป่วยที่ควรเข้ารับการรักษา คือ ผู้ป่วยที่มีอาการเหงื่อออกมือมากจนกระทบกับการทำงานหรือการใช้ชีวิตประจำวัน
การรักษามีทั้งการใช้ยาและการผ่าตัด เช่น
- การทายาหรือครีม ที่มีส่วนผสมของอลูมิเนียมคลอไรด์ ซึ่งเป็นสารที่มักผสมในโรลออน และสเปรย์ระงับกลิ่นกาย
มีคุณสมบัติช่วยลดเหงื่อ - การฉีด Botox
- การผ่าตัดผ่านกล้องเพื่อจี้ตัดปมประสาทอัตโนมัติที่ทำให้เกิดการหลั่งเหงื่อที่มือมากผิดปกติ
ทั้งนี้การรักษาโดยการทายาหรือครีม และการฉีด Botox ถือเป็นการรักษาตามอาการโดยให้ผลเพียงชั่วคราวเท่านั้น
ในปัจจุบันการผ่าตัดถือเป็นวิธีเดียว ที่สามารถรักษาโรคเหงื่อออกมือที่ได้ผล และให้ผลระยะยาวถาวรที่สุด
การผ่าตัดจะเป็นการผ่าตัดแผลเล็กผ่านกล้อง โดยทำการเปิดแผลผ่าตัดความยาว 1-2 cm บริเวณใต้รักแร้ทั้งสองข้าง ข้างละ 2-3 แผล เพื่อใส่กล้องและเครื่องมือเข้าไปจี้ตัดทำลายปมประสาท เพื่อให้การหลั่งเหงื่อที่มือลดลง สามารถเห็นผลเหงื่อลดลงทันทีหลังผ่าตัด ใช้เวลาผ่าตัดเพียง 1-2 ชั่วโมงเท่านั้น
นพ.ณัฐพล อภิกิจเมธา
ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดผ่านกล้อง
ศูนย์ศัลยกรรม (General Surgery) โรงพยาบาลนวเวช โทร. 02 483 9999