โรคไส้เลื่อน โรคน่าหนักใจที่เป็นได้ทั้งชายหญิง
เราอาจจะเคยได้ยินว่า “โรคไส้เลื่อน” เกิดขึ้นในผู้ชายที่มักไม่ใส่กางเกงใน แต่ที่จริงแล้ว ผู้หญิงก็เป็นไส้เลื่อนได้ และไม่มีปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวกับการใส่หรือไม่ใส่กางเกงในเลย
อาการ
โรคไส้เลื่อน เกิดจากการที่อวัยวะบางส่วนในช่องทาง เช่น ลำไส้ใหญ่ ลำไส้เล็ก ยื่นออกจากช่องทางผ่านทางกล้ามเนื้อผนังหน้าท้อง หรือมีรูเปิดผิดปกติของผนังหน้าท้อง หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของหน้าท้อง อาการของโรคไส้เลื่อนที่ปรากฏให้เห็นชัดที่สุด คือการคลำแล้วพบก้อนนูนบริเวณที่อวัยวะยื่นออกมา เวลาไอหรือเบ่งจะมีอาการเจ็บบริเวณก้อนนูน เมื่อนอนแล้วสามารถดันก้อนนูนกลับไปได้ ซึ่งโดยปกติแล้วจะเจอในตำแหน่งดังนี้
- ไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบ (inguinal hernia) พบบ่อยที่สุด และมักพบในผู้ชาย เกิดจากผนังหน้าท้องส่วนล่างบางหย่อนยาน ทำให้มีลำไส้ยื่นออกมาบริเวณหัวเหน่า (Direct Inguinal Hernia) และช่องผนังหน้าท้องที่เส้นเลือดที่มาเลี้ยงลูกอัณฑะไม่ปิด (indirect inguinal hernia) ปกติแล้วจะปิดหลังทารกคลอดออกมาจากมารดาไปตามธรรมชาติ ทำให้ลำไส้เคลื่อนออกมาได้ และอาจเคลื่อนต่อเนื่องไปยังถุงอัณฑะ
- ไส้เลื่อนบริเวณต่ำกว่าขาหนีบ ต้นขาด้านใน (Femoral Hernia) มักพบเฉพาะในผู้หญิง เกิดจากการอ่อนแอของช่องกระดูกเชิงกราน บริเวณที่เส้นเลือดใหญ่รอดออกมาจากช่องท้องไปเลี้ยงขา (femoral canal)
- ไส้เลื่อนบริเวณแผลผ่าตัด (Incisional Hernia) เกิดกับผู้ที่เคยเข้ารับการผ่าตัดภายในช่องท้องมาก่อน การผ่าตัดอาจทำให้กล้ามเนื้อหน้าท้องอ่อนแอหรือหย่อนยานจนลำไส้ดันตัวออกมา
- ไส้เลื่อนบริเวณสะดือ (Umbilical Hernia) มักพบในเด็กที่คลอดก่อนกำหนด เนื่องจากผนังหน้าท้องส่วนที่อยู่ใต้ชั้นของผิวหนังยังปิดไม่สนิท ทำให้สะดือโป่งหรือที่เรียกกันว่า สะดือจุ่น และไส้เลื่อนสะดือยังสามารถเกิดในผู้ใหญ่ก็ได้ด้วย
- ไส้เลื่อนบริเวณข้างกล้ามเนื้อหน้าท้อง (Spigelian hernia) เป็นไส้เลื่อนชนิดที่พบได้ไม่บ่อยนักแต่มีโอกาสสูงที่ลำไส้ถูกกล้ามเนื้อรัดจนเน่าเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
- ไส้เลื่อนกระบังลม (hiatal hernia) เกิดจากผนังกระบังลมหย่อนยานหรือมีช่องเปิดในกระบังลมแต่กำเนิด ทำให้กระเพาะอาหารส่วนบนเคลื่อนขึ้นไปยังบริเวณช่วงอก เกิดกรดไหลย้อน
- ไส้เลื่อนภายในช่องเชิงกราน (obturator hernia) เป็นไส้เลื่อนชนิดที่พบได้น้อยมากและมีความรุนแรง มักพบในผู้หญิงโดยเฉพาะผู้หญิงสูงวัยที่มีรูปร่างผอมบาง
ในบางครั้งผู้ป่วยจะไม่มีก้อนนูนให้เห็นชัด แต่จะมีอาการของโรคกรดไหลย้อย ปวดหน้าอก หรือกลืนลำบาก บางรายอาจจะแค่มีอาการปวดท้องเวลาไอจาม ยกสิ่งของ หรือเลือดปนในอุจจาระ
สำหรับอาการที่ผู้ป่วยไส้เลื่อนต้องมาพบแพทย์ทันที ได้แก่
- มีอาการปวดบริเวณที่เป็นไส้เลื่อนไม่สามารถดันก้อนนูนกลับเข้าไปในช่องท้องได้
- ปวดท้อง ท้องอืด ไม่อุจจาระ ไม่ผายลม คลื่นไส้ อาเจียน
อาการดังกล่าวบ่งบอกว่ากำลังเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น ไส้เลื่อนติดคา ดันกลับไม่ได้ (Incarcerated hernia) หรือภาวะลำไส้ขาดเลือดและเน่าตาย (strangulated hernia) หรือภาวะลำไส้อุดตัน (bowel obstruction) ที่ผู้ป่วยจะต้องได้รับการผ่าตัดรักษาฉุกเฉิน
ส่วนใหญ่วินิจฉัยโรคโดยตรวจร่างกายทั่วไปซึ่งผู้ป่วยมักมีก้อนนูนที่คลำพบได้โดยเฉพาะขณะยืน ยกสิ่งของ หรือไอจาม สำหรับไส้เลื่อนชนิดที่มองเห็นไม่ชัดหรือคลำจากภายนอกไม่พบ อาจต้องใช้วิธีตรวจเพิ่มเติม เช่น การส่องกล้อง การตรวจอัลตราซาวด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) และ MRI
สาเหตุของโรค
โรคไส้เลื่อนมักเกิดจากหลายปัจจัยเสี่ยงหลายปัจจัยร่วมกัน โดยเริ่มจากความอ่อนแอของเยื่อบุช่องท้อง กล้ามเนื้อหน้าท้อง ที่เกิดขึ้นตั้งแต่กำเนิด เกิดจากอุบัติเหตุที่ช่องทาง หรือเกิดจากการผ่าตัด นอกจากนี้แรงดันภายในช่องท้องก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่เป็นสาเหตุ ซึ่งโรคไส้เลื่อนมักเกิดจากปัจจัยเสี่ยง ดังต่อไปนี้
- เคยเป็น หรือคนในครอบครัวเป็นไส้เลื่อน
- มีน้ำหนักมากกว่าเกณฑ์ปกติ โรคอ้วน
- มีอาการไอเรื้อรัง
- การตั้งครรภ์
- การยกของหนักเป็นประจำ
- การเบ่งอุจจาระเป็นประจำเนื่องจากท้องผูก
- การเบ่งปัสสาวะเนื่องจากต่อมลูกหมากโต
- มีของเหลวในช่องท้อง เกิดจากโรคตับ
แนวทางรักษา
วิธีรักษาโรคไส้เลื่อนจะใช้วิธีการผ่าตัด ซึ่งความเร่งด่วนในการรักษาขึ้นอยู่กับขนาดของก้อนนูน
กรณีที่ก้อนนูนมีขนาดเล็กและไม่มีอาการ แพทย์จะวางแผนนัดผ่าตัดเมื่อพร้อม โดยให้เฝ้าระวังอาการแทรกซ้อน ซึ่งในกรณีของไส้เลื่อนกระบังลม (Hiatal hernia) ที่มีขนาดไม่ใหญ่ และมีอาการกรดไหลย้อน จะรักษาโดยใช้ยารักษากรดไหลย้อน หากไส้เลื่อนมีขนาดใหญ่ขึ้น หรือยาลดกรดไม่สามารถควบคุมอาการกรดไหลย้อนได้ในไส้เลื่อนกระบังลม แพทย์จะแนะนำให้รักษาโดยการผ่าตัด เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่อาจตามมา
กรณีก้อนนูนขนาดใหญ่และมีอาการ เช่น ปวดที่ก้อน ก้อนด้นกลับไม่ได้ อาการท้องอืด ไม่ถ่าย ไม่ผายลม มีอาการลำไส้อุดตัน ผู้ป่วยต้องเดินทางมาพบแพทย์ทันที และควรงดน้ำงดอาหาร เพื่อรับการผ่าตัดด่วน สามารถทำได้ 2 วิธี คือ
- การผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง (Open Surgery) โดยวิธีดมยาสลบหรือให้ชาเฉพาะที่ โดยจะผ่าบริเวณที่มีก้อนนูนเพื่อดันส่วนที่เคลื่อนออกมาให้กลับเข้าไปยังตำแหน่งเดิม แล้วเย็บซ่อมจุดที่อ่อนแอพร้อมใส่วัสดุสังเคราะห์ลักษณะคล้ายตาข่าย (Surgical Mesh) เพื่อเสริมความแข็งแรง
- การผ่าตัดผ่านกล้อง (Laparoscopic Surgery) โดยจะทำผ่านรูเล็ก ๆ ที่เจาะเข้าทางหน้าท้อง และทำการซ่อมแซมไส้เลื่อน ช่วยให้แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก เจ็บแผลน้อยลง ใช้เวลาพักฟื้นในโรงพยาบาลน้อยลง และฟื้นตัวเร็วขึ้น ลดการกระทบกระเทือนต่ออวัยวะหรือเนื้อเยื่อรอบ ๆ และเสียเลือดน้อยลง
แนวทางการดูแล
สำหรับผู้ป่วยที่รอรับการผ่าตัดรักษา หรือผู้ป่วยที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ ไม่ควรยกของหนัก ไม่เบ่งอุจจาระและปัสสาวะ หรืออาจสวมใส่อุปกรณ์ประเภทสายรัดหรือกางเกงที่ช่วยกระชับไม่ให้ไส้เลื่อนนูนออกมา
สำหรับผู้ป่วยที่ผ่าตัดรักษาไส้เลื่อนแล้ว ควรเฝ้าระวังไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำ โดยการควบคุมน้ำหนัก ไม่ยกของหนัก ไม่เบ่งอุจจาระหรือปัสสาวะ
สำหรับผู้ป่วยโรคไส้เลื่อนกระบังลมที่มีอาการของกรดไหลย้อน ควรหลีกเลี่ยงการดื่มหรือรับประทานชา กาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ช็อกโกแลต อาหารรสจัด อาหารที่มีไขมันมาก และไม่ควรรับประทานอาหารมากจนเกินไป
ป้องกันอย่างไร
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และมีกากใยสูง
- ไม่ยกของที่มีน้ำหนักมาก หากจำเป็นให้ย่อเข่า ไม่ควรก้มตัวยก
- ควรรักษาอาการไอเรื้อรังให้หายขาด
- งดการสูบบุหรี่
สรุป
โรคไส้เลื่อนเป็นโรคที่เกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย สาเหตุเกิดจากความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด และพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งเราสามารถป้องกันและดูแลได้ หากว่าสงสัยว่าเป็นโรคไส้เลื่อนควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยรักษา เพราะอาจมีอาการรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้เช่นเดียวกัน